ในการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change- LFC) รุ่นที่ 13 ใน Module 7 : สร้างสรรค์ เศรษฐกิจใหม่ให้ยั่งยืน มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ BCG Model in Action มากมาย เพื่อให้แนวทางการสร้างสรรค์เศรษฐกิจแนวใหม่ที่เน้นความยั่งยืนแก่ผู้เข้าอบรม
คุณชนะ ภูมี Chief Sustainability Officer บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “SCG วิถีโตยั่งยืน” ระบุถึงแนวทางของ SCG ที่สร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจว่า เอสซีจีได้นำหลักการของ ESG เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ โดยเรียกว่า ESG 4 Plus และเห็นว่าทั้ง ESG และ BCG ถือเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและให้กับโลกบนความท้าทายของวิกฤติสิ่งแวดล้อม
โดย ESG (Environmental – Social – Governance) จะเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม การทำงานระหว่างธุรกิจกับสังคม ชุมชน และมีการกำกับดูแลที่ดีสอดคล้องกับกฎหมาย ขณะที่ BCG จะเน้นไปที่การทำธุรกิจพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการใช้วัสดุดิบอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนการผลิต มีการหมุนเวียนกลับมาใช้
สำหรับแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจีนั้น ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ลงในสัดส่วน 25% ในปี 2030 จากปีฐาน และตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Go Green) เช่น กรีนคอนสตรัคชั่น กรีนโพลิเมอร์ กรีนซีเมนต์ กรีนแพ็คเก็จจิ้ง เป็นต้น
ในการลดความเหลื่อมล้ำ(Reduce Inequality) บริษัทจะทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างงานให้ชุมชนและเอสเอ็มอี ผ่านการพัฒนาทักษะตามความต้องการ และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับอาเซียนและโลกเพื่อขับเคลื่อนแนวทาง ESG (Enhance Collaboration) ภายใต้การปฏิบัติการอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
“เรื่องการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ปัจจุบันกว่า 140 ประเทศทั่วโลกร่วมกันผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 90% ของจีดีพีโลก จึงมีพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะ การออกกฎกติกาการค้าใหม่ๆ ในด้านนี้มาบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศคู่ค้าต้องดำเนินการให้สอดคล้อง และพัฒนากฎหมาย กฎกติกาการค้าให้เทียบเคียง อาทิเช่น ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วโลกที่ประเมินบริษัทที่เข้าไปลงทุนว่า มีความรับผิดชอบต่อสังคมชุมชนสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล มากแค่ไหนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเล็ก กลาง ใหญ่ในไทยต้องตระหนัก เร่งปรับตัว” คุณชนะ กล่าว
ส่วนวิธีการทำงานสนับสนุนชุมชน Chief Sustainability Officer บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ทางเอสซีจีจะสอบถามชุมชนถึงปัญหาและความต้องการก่อน จากนั้นจึงใส่ “องค์ความรู้” เข้าไปช่วยเสริมความแข็งแกร่ง มากกว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อทำให้ชุมชนมีคุณภาพมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมกับการมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน
คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บรรยายหัวข้อ “ESG-BCG : ก้าวใหม่ที่สมดุล ตลาดทุนไทย” โดยกล่าวว่า ซีพีเอฟ นิยามตัวเองเป็นบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ –ปลายน้ำ ในธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจผลิตอาหาร เป็นครัวของโลกที่สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร ดีต่อกาย และดีต่อใจ
“ดีต่อกาย” หมายถึงการผลิตเนื้อสัตว์โปรตีนคุณภาพ ปลอดภัย และ “ดีต่อใจ” คือการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีตามแนวทาง ESG สอดคล้องกับ BCG บนเป้าหมายการ “สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ในทุกประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปทำธุรกิจ
ปัจจุบันซีพีเอฟลงทุนตรง 16 ประเทศ และฐานการผลิตในไทย ธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 4,000 ล้านคน มีพนักงานทั่วโลก 1.33 แสนคน
“ซีอีเอฟ ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ที่ผลิตได้มาตรฐานนักบินทานได้ ในกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เราใส่นวัตกรรมรองรับเทรนด์อาหารอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องของความยั่งยืน โดยมองว่าเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะทำแล้วคุ้ม ทำแล้วประหยัดขึ้น จะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว”
คุณประสิทธิ์ กล่าวถึงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในการทำธุรกิจของซีพีเอฟว่า ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และดิจิทัลเทคโนโลยี ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 31% ในปี 2566 ผ่านการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกรและไก่ไข่ มีการใช้พลังงานชีวมวลใน 18 โรงงาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานและฟาร์มกว่า 42 เมกะวัตต์ มีการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน
ร่วมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่ามากกว่า 5 ล้านต้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ใช้ระบบข้อมูลอัจฉริยะ ระบบออโตเมชั่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และใช้พลังงานไฮโดรเจนจากมูลสัตว์
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งทำผ่านโครงการแฟรนไชส์ 5 ดาว โดยเปิดทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ 100% ปัจจุบันมี 5,650 สาขา สร้างรายได้ให้ชุมชนและคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง รวมทั้งตั้งเป้าว่า จะมีจำนวนเกษตร 5,758 คน สร้างรายได้ 7,628 ล้านบาทในปี 2566 การสนับสนุนคู่ค้า เช่น ลดเครดิตเทอม เพิ่มสภาพคล่อง
ในด้านการมุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซีพีเอฟจะทำผ่านการปฏิบัติตามข้อกำหนดองค์กร การดำเนินการอย่างโปร่งใส การต่อต้านคอรัปชั่น และความตระหนักด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
No comments:
Post a Comment