ภายในงานพิธีสรุปผลความสำเร็จโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ได้รับเกียรติจาก นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย), บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub), ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) (P&G), บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส วี โอ เอ จำกัด (มหาชน), บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) และคณาจารย์สถาบันการศึกษา 17 แห่ง เข้าร่วมในพิธี ณ ทรูดิจิทัล พาร์ค (West) ถนนสุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการ From Gen Z to be CEO ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี อบรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่แล้วจำนวนกว่า 60,300 ราย และในปีนี้มีน้องๆ ที่ได้รับรางวัล TOP 100 มาจากสถาบันต่างๆ มากถึง 17 สถาบัน ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์ สถาบันการศึกษากว่า 110 แห่ง ทั่วประเทศ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรระดับประเทศที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เข้าร่วมฝึกงาน เพื่อต่อยอดความรู้การทำธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ทรู/ หัวเว่ย/ บิทคับ/ EXIM Bank/ P&G/ SPVI/ DHL/ SVOA/ BOL และหน่วยงานภาคการเกษตร ฟาร์มโตะ, นพดาโปรดักส์, ไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม, สยามคูโบต้า, ไดสตาร์ เฟรช, ไร่สุวรรณ และฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค ที่ร่วมสนับสนุนสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา”
“ผมหวังว่า องค์ความรู้ต่างๆ ในหลักสูตร “ปั้น Gen Z ให้เป็น CEO” ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านสถานการณ์การค้าทั่วโลก ความรู้ในการส่งออก แนวคิดต่างๆ ของนักธุรกิจรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาส และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการจะ “ผลักดัน” น้องๆ ให้เป็นผู้ประกอบการที่พร้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการ “ขับเคลื่อน” ภาคการส่งออกของไทยในอนาคต โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการติดตามผลความสำเร็จของน้องๆ Gen Z ที่เป็นสุดยอดเพชรเม็ดงามของโครงการที่มีสินค้าและบริการเป็นของตนเอง หรือที่เรียกว่า GEMs Z (เจ็ม-ซี) ซึ่งน้องๆ เหล่านี้ได้นำความรู้ที่ได้รับจากโครงการไปต่อยอด และเริ่มทำธุรกิจ โดยได้ผ่านการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ จนกลายเป็น “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตัวจริง” ซึ่งผมถือว่าเป็น “ความสำเร็จที่จับต้องได้” ของโครงการนี้อย่างแท้จริงครับ”
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการ From Gen Z to be CEO ในปี 2566 นี้ กรมได้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากกว่าเดิม โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งหมด 110 แห่งทั่วประเทศ อบรมจำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง ภายใต้ 6 หลักสูตรเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีเนื้อหาหลักสูตรด้านการค้าระหว่างประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และสามารถตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมโครงการในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ รวมถึงโอกาสในการฝึกงานกับหน่วยงานพันธมิตร และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ สคต. อีกทั้งในปี 2566 สถาบันการศึกษาได้นำหลักสูตรของโครงการไปบรรจุในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศหรือกำหนดเป็นกิจกรรมพิเศษของสถาบัน ขอขอบคุณทุกๆ สถาบันที่ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้โครงการในปีนี้สามารถดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการคลื่นลูกใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยในอนาคตได้ต่อไปค่ะ”
การจัดงานครั้งนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ Gen Z ที่ทำคะแนนสูงสุด 100 ลำดับแรก (Top 100) และ 10 อันดับแรก (Top 10) และมอบรางวัล Gen Z Ambassadors สำหรับผู้ที่ทำคะแนนสูงสุดและได้รับคัดเลือก จำนวน 4 ราย จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 23,800 ราย โดย Gen Z Ambassadors ประจำปี 2566 ได้แก่
1. นายวชิรวิทย์ เลิศอภิสิทธิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2. นายวริศร์ สุริยันยงค์ คณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นายวฤธ ไตรเกษมศักดิ์ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นายณัฐพล แก้วชุม คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
โดย Gen Z Ambassadors ทั้ง 4 คน จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่การเป็นประกอบการให้แก่ Gen Z รุ่นต่อๆ ไป
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลอื่นๆ ได้แก่
- รางวัลคนเก่งอาชีวะ ที่มอบให้กับผู้ผ่านการอบรมสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาที่ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ นางสาวอัจฉรา พิศวงค์ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปี 2 สาขาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
- รางวัลสถาบันการศึกษาดีเด่นและรางวัลบุคลากรดีเด่น ที่มอบให้กับสถาบันการศึกษาและอาจารย์ในสังกัดที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับโครงการ From Gen Z to be CEO อย่างดียิ่ง โดยมีสถาบันที่ได้รับรางวัล จำนวน 7 สถาบัน ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
5. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
6. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
7. วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รางวัล Consecutive Partnership มอบให้แก่พันธมิตรที่ให้การสนับสนุนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย), บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) (P&G)
ผู้ที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/nea.ditp/ หรือหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (สถาบัน NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สามารถดูรายละเอียดได้ที่
https:// nea.ditp.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE OA : @e-academy หรือที่สายด่วน 1169 กด 1 และกด 1
###
###
No comments:
Post a Comment